โครงการชลประทานน้ำเชิญ
ประวัติความเป็นมา โครงการชลประทานน้ำเชิญ จ.ขอนแก่น เป็นโครงการตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2520 เนื่องจากราษฎร ต.ชุมแพ อ.ชุมแพ ได้ทูลทวายหนังสือเพื่อกราบบังคมทูลขอพระราชทานสร้างเขื่อนทดน้ำถาวรแทนฝายเดิมพร้อมก่อสร้างคลองชลประทาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริให้กรมชลประทานพิจารณาช่วยเหลือเป็นการด่วน กรมชลประทานจึงได้พิจารณาวางโครงการเป็นเขื่อนทดน้ำคอนกรีตเสริมเหล็กขึ้น เมื่อวางโครงการเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงได้กราบบังคมทูลเพื่อทรงทราบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จไปทอดพระเนตรบริเวณที่จะสร้างเขื่อนทดน้ำ เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2520 และมีพระราชดำรัสให้กรมชลประทานก่อสร้างให้แล้วเสร็จโดยด่วน กรมชลประทานได้เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2520 และแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2522 มีระบบส่งน้ำสายใหญ่ 2 สาย คือ ฝั่งขวายาว 0+630 กม. และฝั่งซ้ายยาว 0+996 กม. สามารถส่งน้ำให้พื้นที่การเกษตรของสมาชิกกลุ่มสหกรณ์น้ำเชิญ ในฤดูฝน 20,000 ไร่ และฤดูแล้ง 15,000 ไร่ ระบบส่งน้ำในส่วนที่ต่อจากคลองส่งน้ำของกรมชลประทานนั้นเดิมเป็นของกรมส่งเสริม สหกรณ์ ซึ่งกรมส่งเสริมสหกรณ์ไม่มีงบประมาณในการดำเนินการและมอบให้กรมชลประทานเมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2540 เพื่อดำเนินการปรับปรุงระบบชลประทานทั้งโครงการต่อไป ลำน้ำเชิญมีต้นน้ำจากเทือกเขาในบริเวณอุทยานแห่งชาติน้ำหนาวด้าน อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ ไหลลงทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ผ่าน อ.คอนสาน อ.ชุมแพ ไปบรรจบกับลำน้ำพรมที่ อ.หนองเรือ จ.ขอนแก่น แล้วไหลลงอ่างเก็บน้ำอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น รวมความยาวของลำน้ำตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงขอบอ่างฯอุบลรัตน์ ประมาณ 180 กม. ลุ่มน้ำเชิญ ได้รับฝนจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้น้อย เพราะมีทิวเขาสูงกั้นเป็นแนวแบ่งเขตจังหวัดเพชรบูรณ์และจังหวัดชัยภูมิ พื้นที่แถบนี้ส่วนใหญ่จึงมักจะขาดแคลนน้ำสำหรับการเพาะปลูกในตอนต้นฤดูอยู่เสมอ บางครั้งช่วงเดือนสิงหาคมถึงเดือนตุลาคม เกิดฝนตกหนักเนื่องมาจากพายุโซนร้อนและพายุดีเปรสชั่น จนทำให้เกิดอุทกภัยเป็นเหตุให้การเพาะปลูกบริเวณสองฝั่งลำน้ำได้รับความเสียหาย ปัจจุบันสภาพน้ำในลำน้ำเชิญ ได้รับน้ำเพิ่มเติมจากอ่างเก็บน้ำจุฬาภรณ์ซึ่งสร้างกั้นลำน้ำพรม โดยน้ำที่ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าจะถูกส่งมาตามท่อส่งน้ำซึ่งวางตัดผ่านสันเขาไปสู่ลำห้วยสาขาไหลลงลำน้ำเชิญตลอดเวลา น้ำจำนวนนี้สามารถนำไปใช้ในการเกษตรได้ตลอดปี 1. สถานที่ตั้ง 2. ระยะเวลาก่อสร้าง 23 มีนาคม 2562
|